GIA ได้จัดระดับคุณภาพของการเจียระไนจาก ดีเลิศ (Excellent) ถึง แย่ (Poor) โดยการจัดระดับคุณภาพการเจียระไนเพชรสำหรับ เพชรกลม เหลี่ยมเกสร (Round Brilliant Cut) ที่อยู่ในช่วงระดับสี D-Z เท่านั้น โดยความงดงามของเพชรที่ผ่านการเจียระไรแล้ว จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างแสงกับเพชร การตกกระทบของแสงบนพื้นผิวของเพชร ปริมาณแสงที่ผ่านเข้าไปในเพชร การหักเหและการสะท้อนกลับเข้าสู่ตา ล้วนมีผลต่อความงดงามของเพชรเม็ดนั้นๆ
ขณะที่ธรรมชาติรังสรรค์ความบริสุทธิ์ของเพชร น้ำหนักเป็นกะรัตและฝีมือของช่างเจียระไนที่ชำนาญก็เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการปลดปล่อยไฟ ประกาย และความงามเจิดจรัสของเพชร เมื่อเพชรถูกเจียระไนอย่างถูกต้องได้สัดส่วน จะสะท้อนจากเหลี่ยมหนึ่งไปอีกเหลี่ยมหนึ่งและกระจายไปทั่วหน้าเพชร
เพชรที่เจียระไนตื้นเกินไปหรือลึกเกินไป จะสูญเสียประกายจากด้านข้างหรือด้านล่าง ดังนั้นเพชรที่เจียระไนไม่ดี จะเปร่งประกายเจิดจรัสน้อยกว่า ดูไม่สวยงาม และแน่นอนย่ิอมมีราคาไม่แพงนัก การสะท้อนของเพชรจึงขึ้นอยู่กับการเจียระไน
- เพชรที่ได้รับการเจียระไรอย่างได้สัดส่วน แสงจะสะท้อนจากเหลี่ยมเพชรด้านหนึ่งสู่อีกด้านหนึ่งและกระจายออกทางด้านบนของเพชร
- เพชรที่ได้รับการเจียระไนลึกเกินไป แสงจะสะท้อนออกทางด้านตรงข้ามของก้นเพชร ทำให้เพชรดูมืด
- เพชรที่ได้รับการเจียระไนตื้นเกินไป แสงจะพุ่งลงผ่านด้านล่างของก้นเพชรออกไป โดยไม่มีการสะท้อนกลับ ทำให้เพชรขาดประกายเจิดจรัส
จากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่า เพชรที่มีการเจียระไนลึกเกินไป (รูปด้านซ้ายมือ) หรือตื้นเกินไป (รูปด้านขวามือ) จะทำให้เกิดการสะท้อนของแสงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ความสว่างไสว (Brightness) ประกาย (Fire) และความแวววาว (Scintillation) ลดลง ทั้งนี้เป็นผลมาจาก การไหลออกของแสง (Light Leakage)
ปัจจัย 3 ประการที่เกิดขึ้น จากผลของการเจียระไนเพชร คือความสว่างไสว เจิดจ้า (Brightness) ซึ่งเกิดจากปริมาณแสงที่ผ่านเข้าไปในเพชร แล้วเกิดการหักเหแล้วสะท้อนกลับเข้าสู่ตา และประกายของเพชร (Fire) ซึ่งเกิดจากการที่แสงจากดวงอาทิตย์ หรือไฟต่างๆ ผ่านเข้าไปในเพชรแล้วสะท้อนกลับ การกระจายแสงจะกระจายออกเป็นสีรุ้ง และความแวววาว (Scintillation) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเพชรมีการเคลื่อนไหว
รูปด้านบนเป็นสัดส่วนการเจียระไนในอุดมคติ (Ideal Cut) คิดค้นโดย Marcel Tolkowsky ในปี ค.ศ.1919 การคิดค้นของ Tolkowsky นี้เป็นการปฏิวัติมาตรฐานการเจียระไนเพชร และยังคงยึดถือเป็นมาตรฐานในการเจียระไนในปัจจุบัน โดยการค้นพบของ Tolkowsky ทำให้เพชรมีประกายและไฟที่งดงาม สัดส่วนของการเจียระไน มีผลต่อการตกกระทบ การหักเหของแสง และการสะท้อนของแสง อีกทั้งเพชรควรมีสัดส่วนที่สมมาตร เพื่อให้เพชรมีความสวยงาม และมีประกายระยิบระยับและแวววาว
ในช่วง ค.ศ.1980s นักวิทยาศาสตร์และนักอัญมณีศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ได้ร่วมกันคิดค้น และพัฒนาจากการเจียระไรในอุดมคติ โดยปรับปรุงสัดส่วนในการเจียระไน เพชรที่ได้จากการค้นคว้า เมื่อมองผ่านกล้อง Firescope จากด้านบนจะเห็นรูปลูกศร 8 ดอกเท่าๆ กัน และหากมองจากด้านล่าง จะเห็นเป็นรูปหัวใจ 8 ดวง เท่าๆ กัน ซึ่งในปัจจุบันถือว่า เพชร Heart & Arrow ให้การสะท้อนกลับของแสง (Light Return) ได้ดีที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น