วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Heart & Arrow Diamond

เพชร Heart & Arrow (H&A) คือเพชรเหลี่ยมเกสร (Round Brilliant Cut) ที่ได้รับการยอมรับว่าสวยงามที่สุดในปัจจุบัน โดยเพชร Heart & Arrow จะมีประกายและสะท้อนแสงได้ดีกว่าเพชรเหลี่ยมเกสรทั่วไป การตรวจสอบว่าเพชรเม็ดใด เป็นเพชร Heart & Arrow หรือไม่นั้น ให้ดูเพชรผ่านกล้องเฉพาะแบบ คือกล้อง Heart & Arrow หรือบางครั้งเรียกว่า Ideal Scope
เนื่องจากเพชร Heart & Arrow มีความสมมาตรที่ดีเลิศ ผ่านการเจียระไนอย่างประณีตซึ่งทำให้มีการสูญเสียเนื้อเพชรดิบระหว่างขั้นตอนการเจียระไนสูงกว่าเพชรเหลี่ยมเกสรโดยทั่วไป ดังนั้นเพชร Heart & Arrow จึงมีราคาสูงกว่าเพชรเหลี่ยมเกสรโดยปกติ 5-10%

เมื่อมองเพชร Heart & Arrow ผ่าน Ideal Scope จะเห็นรูปสมมาตรของลูกศรและหัวใจอย่างสมบูรณ์ โดยเมื่อมองจากด้านหน้าของเพชร จะเห็นเป็นลูกศรแปดดอกอย่างชัดเจน และเมื่อมองจากด้านหลังของเพชร จะเห็นเป็นรูปหัวใจแปดดวงอย่างชัดเจนเช่นกัน การสังเกตุว่าเพชรเม็ดใดเป็นเพชร Heart & Arrow แท้หรือไม่นั้น ให้สังเกตุรูปร่าง ขนาดของ ลูกศร และหัวใจ
สำหรับเพชรเหลี่ยมเกสรโดยทั่วไป เมื่อมองจากด้านหน้าเพชรด้วย Ideal Scope จะไม่เห็นเป็นรูปลูกศณหรือไม่เห็นครบแปดดอก หรืออาจจะครบแต่มีขนาดไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับเมื่อมองจากด้านล่างของเพชร อาจไม่เห็นรูปหัวใจชัดเจน เห็นรูปหัวใจไม่ครบแปดดวง หรืออาจครบแต่มีขนาดไม่เท่ากัน


วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การเจียระไร (Cut Grading) เพชร

การเจียระไนเพชรหมายถึง การจัดวางหน้าเหลี่ยมต่างๆ ของเพชร เพชรที่เจียระไนดีไม่ว่าจะเป็นรูปทรงใด แสงจะสะท้อนแพรวพราวเป็นประกายระยิบระยับทางด้านบนของเพชร และทวีค่ามากขึ้น
GIA ได้จัดระดับคุณภาพของการเจียระไนจาก ดีเลิศ (Excellent) ถึง แย่ (Poor) โดยการจัดระดับคุณภาพการเจียระไนเพชรสำหรับ เพชรกลม เหลี่ยมเกสร (Round Brilliant Cut) ที่อยู่ในช่วงระดับสี D-Z เท่านั้น โดยความงดงามของเพชรที่ผ่านการเจียระไรแล้ว จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างแสงกับเพชร การตกกระทบของแสงบนพื้นผิวของเพชร ปริมาณแสงที่ผ่านเข้าไปในเพชร การหักเหและการสะท้อนกลับเข้าสู่ตา ล้วนมีผลต่อความงดงามของเพชรเม็ดนั้นๆ
ขณะที่ธรรมชาติรังสรรค์ความบริสุทธิ์ของเพชร น้ำหนักเป็นกะรัตและฝีมือของช่างเจียระไนที่ชำนาญก็เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการปลดปล่อยไฟ ประกาย และความงามเจิดจรัสของเพชร เมื่อเพชรถูกเจียระไนอย่างถูกต้องได้สัดส่วน จะสะท้อนจากเหลี่ยมหนึ่งไปอีกเหลี่ยมหนึ่งและกระจายไปทั่วหน้าเพชร
เพชรที่เจียระไนตื้นเกินไปหรือลึกเกินไป จะสูญเสียประกายจากด้านข้างหรือด้านล่าง ดังนั้นเพชรที่เจียระไนไม่ดี จะเปร่งประกายเจิดจรัสน้อยกว่า ดูไม่สวยงาม และแน่นอนย่ิอมมีราคาไม่แพงนัก การสะท้อนของเพชรจึงขึ้นอยู่กับการเจียระไน
- เพชรที่ได้รับการเจียระไรอย่างได้สัดส่วน แสงจะสะท้อนจากเหลี่ยมเพชรด้านหนึ่งสู่อีกด้านหนึ่งและกระจายออกทางด้านบนของเพชร
- เพชรที่ได้รับการเจียระไนลึกเกินไป แสงจะสะท้อนออกทางด้านตรงข้ามของก้นเพชร ทำให้เพชรดูมืด
- เพชรที่ได้รับการเจียระไนตื้นเกินไป แสงจะพุ่งลงผ่านด้านล่างของก้นเพชรออกไป โดยไม่มีการสะท้อนกลับ ทำให้เพชรขาดประกายเจิดจรัส
จากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่า เพชรที่มีการเจียระไนลึกเกินไป (รูปด้านซ้ายมือ) หรือตื้นเกินไป (รูปด้านขวามือ) จะทำให้เกิดการสะท้อนของแสงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ความสว่างไสว (Brightness) ประกาย (Fire) และความแวววาว (Scintillation) ลดลง ทั้งนี้เป็นผลมาจาก การไหลออกของแสง (Light Leakage) 
ปัจจัย 3 ประการที่เกิดขึ้น จากผลของการเจียระไนเพชร คือความสว่างไสว เจิดจ้า (Brightness) ซึ่งเกิดจากปริมาณแสงที่ผ่านเข้าไปในเพชร แล้วเกิดการหักเหแล้วสะท้อนกลับเข้าสู่ตา และประกายของเพชร (Fire) ซึ่งเกิดจากการที่แสงจากดวงอาทิตย์ หรือไฟต่างๆ ผ่านเข้าไปในเพชรแล้วสะท้อนกลับ การกระจายแสงจะกระจายออกเป็นสีรุ้ง และความแวววาว (Scintillation) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเพชรมีการเคลื่อนไหว

รูปด้านบนเป็นสัดส่วนการเจียระไนในอุดมคติ (Ideal Cut) คิดค้นโดย Marcel Tolkowsky ในปี ค.ศ.1919 การคิดค้นของ Tolkowsky นี้เป็นการปฏิวัติมาตรฐานการเจียระไนเพชร และยังคงยึดถือเป็นมาตรฐานในการเจียระไนในปัจจุบัน โดยการค้นพบของ Tolkowsky ทำให้เพชรมีประกายและไฟที่งดงาม สัดส่วนของการเจียระไน มีผลต่อการตกกระทบ การหักเหของแสง และการสะท้อนของแสง อีกทั้งเพชรควรมีสัดส่วนที่สมมาตร เพื่อให้เพชรมีความสวยงาม และมีประกายระยิบระยับและแวววาว
ในช่วง ค.ศ.1980s นักวิทยาศาสตร์และนักอัญมณีศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ได้ร่วมกันคิดค้น และพัฒนาจากการเจียระไรในอุดมคติ โดยปรับปรุงสัดส่วนในการเจียระไน เพชรที่ได้จากการค้นคว้า เมื่อมองผ่านกล้อง Firescope จากด้านบนจะเห็นรูปลูกศร 8 ดอกเท่าๆ กัน และหากมองจากด้านล่าง จะเห็นเป็นรูปหัวใจ 8 ดวง เท่าๆ กัน ซึ่งในปัจจุบันถือว่า เพชร Heart & Arrow ให้การสะท้อนกลับของแสง (Light Return) ได้ดีที่สุด 


การเปรียบเทียบสีของเพชร

เราว่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับสีของเพชรกันอีกนิดหนึ่งนะคะ
-การเปรียบเทียบสีของเพชร-
สีของเพชร(Color) คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดใน 4Cs รองจากน้ำหนักเพชร(Carat Weight) เพราะว่าสีของเพชรที่ขาวหรืออมเหลืองนั้นเป็นสิ่งที่กำหนดโดยธรรมชาติ GIA (Gemological Institute of America) ได้กำหนดสีของเพชรเป็นขั้นๆ จำนวน 23 ขั้น เริ่มจากกลุ่มแรกคือ ไร้สี(Colorless) โดยเริ่มจาก D-F กลุ่มที่สองคือกลุ่มเกือบไร้สี(Near Colorless) โดยเริ่มจาก G-J กลุ่มที่สามคือมีสีจางๆ (Faint) โดยเริ่มจาก K-M กลุ่มที่สี่คือสีอ่อนมาก (Very Light) โดยเริ่มจาก N-R และกลุ่มสุดท้ายคือสีอ่อน(Light) โดยเริ่มจาก S-Z หากเพชรที่มีสีเหลืองมากกว่า Z ก็จะจัดอยู่ในเพชรสีแฟนซี(Fancy Color Diamonds) โดยกลุ่มสีแฟนซีที่พบมากที่สุด เป็นสีเหลือง สีชมพู ส่วนสีที่เคยพบและมีจำนวนน้อยมากคือ สีแดง สีน้ำเงิน

โดยการจัดระดับสีของเพชรนั้น ทางนักอัญมณีศาสตร์จะนำเพชรที่ต้องการตรวจไปเทียบกับเพชรตัวอย่าง (Master Stone) ที่ได้รับการรับรองจากทางห้องแลบ ภาพที่เห็นด้านบนเป็นรูปด้านข้างของเพชร โดยเพชรด้านซ้ายสุดเป็นเพชรน้ำ 98 (F Color) ส่วนเพชรตรงกลางเป็นเพชรน้ำ 97 (G Color) ส่วนเพชรด้านขวาสุดคือเพชรน้ำ 95 (I Color) 

รูปด้านบนและด้านล่างเป็นการเปรียบเทียบสีของเพชร จากด้านหน้าและด้านหลังของเพชร โดยเพชรด้านซ้ายสุดเป็นเพชรน้ำ 98 (F Color) ส่วนเพชรตรงกลางเป็นเพชรน้ำ 97 (G Color) ส่วนเพชรด้านขวาสุดคือเพชรน้ำ 95 (I Color) 


วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คุณค่าของเพชรและตำหนิในเพชร

ปัจจัยในการประเมิณคุณค่าของเพชรนั้นขึ้นอยู่กับ
1. ความสะอาด (Clarity)
2. สี (Color)
3. การเจียระไน (Cut)
4. น้ำหนักกะรัต (Carat Weight)

1. ความสะอาด (Clarity) ความสะอาดของเพชรแบ่งลำดับตั้งแต่ ไม่มีตำหนิ(Flawless) จนถึงมีรอยตำหนิมาก (Imperfect) ซึ่งความสะอาดของเพชรนั้นจะต้องพิจารณาทั้งตำหนิภายในและตำหนิภายนอก ซึ่งจะพิจารณาจาก
     1.ขนาด
     2.จำนวน
     3.ตำแหน่ง
     4.สี
     5.ความเป็นธรรมชาติของตำหนิ
2.สี (Color) ให้มองว่ามีความแตกต่างจาก สีใสไม่มีสี มากเท่าไหร่ เพราะเพชรส่วนมากจะมีร่องรอยของสีเหลือง น้ำตาล หรือเทา (ยกเว้นเพชรที่เรียกว่าสีแฟนซี ได้แก่ น้ำเงิน ชมพู ม่วง หรือแดง) เพชรที่ใส ไม่มีสีจะมีคุณค่ามาก แต่เพชรที่มีสีแดงนั้นจะมีราคาสูงมากและหายากมาก (ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Blood Diamond น่าจะพอนึกภาพออกนะคะ เพราะในหนังนั้น ฆ่ากันตายระนาว เพราะเพชรสีเลือดนี่แหระค่ะ)



3.การเจียระไน(Cut) หมายถึงสัดส่วนและความประณีตในการเจียระไน เมื่อพูดถึงการเจียระไนจะหมายถึงรูปทรงของเพชรเช่น การเจียระไนแบบมรกต, แบบเหลี่ยมเกสร แบบมาคีล์ เป็นต้น
การเจียระไนมีผลต่อ
     -ปริมาณน้ำหนักที่เหลือจากการเจียระไนเพชรก้อน
     -ความสวยของเพชรที่ได้รับจากการเจียระไนตามแบบสมัยนิยม


4.น้ำหนักกะรัต (Carat Weight) 1 กะรัต = 0.200 กรัม ซึ่งเป็นหน่วยมาตรฐานบอกน้ำหนักของเพชร และพลอยชนิดอื่นๆ เพชรยิ่งมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ยิ่งมีคุณค่ามากเท่านั้น


Tip: คุณค่าของเพชรนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าขนาดใหญ่อย่างเดียว แต่หากว่าเพชรที่เม็ดเล็กนั้น มีสัดส่วนในการเจียระไนที่ได้รูปแล้ว จะทำให้เกิดประกายเจิดจรัส ไม่มีตำหนิ และสีใสแล้วละก็ เพชรเม็ดเล็กก็น่าจะล้ำค่ากว่าเพชรที่เม็ดใหญ่ ที่สี, ความสะอด และสัดส่วนในการเจียระไนที่ด้อยกว่า เหมือนกับคำโบราณที่ท่าวกล่าวไว้ว่า "เล็กพริกขี้หนู" ยังไงล่ะค่ะ
..............

ครั้งหน้าเรามาดูต้นกำเนิดของเพชรกันนะคะว่า เพชรที่แสนจะเลอค่านั้น กำเนิดมาได้อย่างไร



เพชร (Diamonds) Part 2

Part นี้ เรามาว่าเรื่องของเพชรต่อก็แล้วกันนะคะ

เพชร มีความวาวสูง ปกติหากยังไม่มีการตัด ขัด และเจียระไน จะไม่เห็นเพชรมีความโปร่งใสมาก และมีการสะท้อนแสงที่ดีเป็นคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งรัตนชาติโดยทั่วไปหรือแก้วที่มีความโปร่งใสสูงจะมีการสะท้อนแสงไม่ดีเท่าทีควร และน้อยกว่าเพชร ค่าของความโปร่งใส (Degree of Transparency) เป็นคุณสมบัติที่เรียกกันว่า "น้ำ (Water of a Diamonds)" น้ำของเพชรจึงขึ้นอยู่กับความใสขุ่นของเพชร ซึ่งเป็นตัวกำหนดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เพชรมีราคาแตกต่างกันได้มาก ในวงการค้า "น้ำ" (Clarity) จะหมายรวมทั้งตำหนิที่มีอยู่ด้วย ทั้งตำหนิที่พบเห็นภายนอก และตำหนิภายในเนื้อเพชร
ค่าดัชนีหักเห (Refractive index) ของเพชรมีเพียงค่าเดียว โดยทั่วไปมีค่าประมาณ 2.417 - 2.419 ซึ่งจะเป็นได้ว่าการที่เพชรมีค่าดัชนีหักเหสูง จึงเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้เพชร มีความวาว มีการหักเห และสะท้อนกลับของแสงจากภายในเนื้อเพชรได้ดี เกิด "ไฟ" (Fire) ดี มีประกายสดใส (Brilliancy) เพชรมีคุณสมบัติของการกระจายแสง (Dispersion) สูงมาก จึงเห็นเพชรมีไฟได้ง่ายชัดเจน เพชรจะมีไฟดีที่สุดได้จะต้องได้รับการเจียระไนที่ถูกต้อง ตามสัดส่วนอย่างสมบูรณ์แบบ และให้เข้ากับหลัการทางแสงด้วย ความสวยงามของเพชรโดยแท้จริงแล้ว ขึ้นอยู่กับ "ไฟ" และ "น้ำ" เป็นส่วนใหญ่
...............
เดี๋ยวครั้งหน้า เราจะมาว่ากันในเรื่องของ ตำหนิเพชรกันนะคะ 

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เพชร (Diamonds)

"เพชร" มีส่วนประกอบเป็นธาตุถ่านหรือคาร์บอน เพชรมีความแข็ง 10 เท่า ของแร่อื่นๆ ทุกชนิดที่เกิดตามธรรมชาติ คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของเพชรคือ มีแนวแตกเรียบ(Cleavage) ที่สมบูรณ์สี่ทิศทาง แนวแตกดังกล่าว จะเป็นแนวที่เพชรแตกได้ง่ายที่สุด ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการ ตัดและเจียระไนเพชรให้มีสัดส่วนและขนาดตามต้องการ และในทางกลับกันก็ต้องระวังเป็นพิเศษเช่นกัน หากไม่ต้องการให้เพชรแตกตามแนวรอยแยกดดังกล่าว และจะก่อให้เกิดตำหนิภายในเพชรได้
เพชรมีได้หลายสี ตั้งแต่ชนิดใสบริสุทธิ์ไม่มีสี ไปจนกระทั่ง ดำ หรือที่เรียกว่า คาร์บอนาโด หรือ คาร์บอน อาจมีสีเหลือง น้ำตาล เขียว น้ำเงิน แดง และชมพู เพชรที่มีสีต่างๆ เหล่านี้จะเรียกรวมกลุ่มว่า "สีแฟนซี (Fancy Colors)" ชนิดที่สีเข้มและสวยจริงๆ นั้น ค่อนข้างหายาก

ปกติวงการเพชรพลอยจะถือว่าเพชรน้ำดีจริงๆ นั้น จะใสบริสุทธิ์ ไร้สี ไร้มลทิน ชนิดที่มีสีอมฟ้า หรือที่เรียกกันว่า "สีน้ำมันก๊าด" ความจริงแล้วไม่ใช่เพชรสีฟ้าดังความหมาย ความจริงแล้วเป็นเพชรที่ไร้สี ที่เห็นสีฟ้าปนเกิดขึ้น เนื่องจากการเรืองแสงโดยรังสีเหนือม่วงที่มีอยู๋ในแสงแดด แต่ถ้าเป็นเพชรที่มีสีฟ้าจริงๆ จะจัดรวมอยู่ในกลุ่มสีแฟนซี เพชรสีออกอมฟ้า ชนิดไม่มีตำหนิ เนื้อใสสะอาด จัดเป็นเพชรน้ำหนึ่ง (First of Purest Water) มีราคาสูงกว่าเพชรอื่นใดทั้งหมด